ไขความลับ! ปัญหา ฝ้า กระ จุดด่างดำ ดูแลรักษายังไง ? ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
กระบวนการสร้างเม็ดสี (Melanogenesis)
เม็ดสีผิว (melanin pigment) ทำหน้าที่ปกป้องผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสี UV ถูกสร้างขึ้นภายในออร์แกเนลล์ที่มีชื่อว่าเมลาโนโซมซึ่งอยู่ภายในเซลล์เมลาโนไซต์ภายในเมลาโนโซมมีเอนไซม์ Tyrosinase ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมการสร้างเม็ดสีผิว โดยการเปลี่ยน Tyrosine เป็น DOPA และเปลี่ยน DOPA ไปเป็น Dopaquinone หลังจากนั้นจะเกิด auto-oxidation ได้เป็นเม็ดสีผิว โดยเซลล์เมลาโนไซต์จะมีส่วนรยางค์ยื่นไปสู่เซลล์เคราติโนไซต์ทำหน้าที่ขนส่งเม็ดสีผิวขึ้นมายังบริเวณผิวหนังชั้นหนังกำพร้า
เม็ดสีผิวแบ่งออกเป็น 2 ชนิด
- Eumelanin เป็นเม็ดสีผิวที่มีสีน้ำตาลหรือดำ
- Pheomelanin เป็นเม็ดสีผิวที่มีสีแดงอมเหลือง
จุดด่างดำ (Hyperpigmentation)
คือลักษณะผิวหนังที่มีสีเข้มกว่าผิวบริเวณใกล้เคียง เป็นปัญหาผิวที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่ผิดปกติในการสร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ที่ใต้ชั้นผิวหนัง ทำให้เซลล์เม็ดสีเกิดการกระจุกรวมตัวกันมากกว่าปกติในบางจุด ส่งผลให้สีผิวบริเวณนั้นมีสีเข้มขึ้นกว่าผิวบริเวณรอบๆ โดยมีสาเหตุหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม แสงแดด หรืออาจเกิดจากสิวอักเสบหรือสิวอุดตันที่ทิ้งรอยไว้
- ลักษณะจุดที่ด่างดำเกิดจากฝ้า จะเป็นปื้นสีน้ำตาลอ่อน เพิ่มระดับไปจนเข้ม เกาะกลุ่มเป็นกระจุก
- ลักษณะจุดที่ด่างดำเกิดจากกระ จะเป็นจุดเล็กๆ กลมๆ เห็นเส้นขอบชัดเจน และกระจายอยู่ทั่วใบหน้าโดยเฉพาะบริเวณแก้ม
- ลักษณะจุดด่างดำจากสิว จะมีรอยคล้ำเป็นวงกลมหรือตามรูปสิว ซึ่งยิ่งมีอาการอักเสบรุนแรงสีของรอยดำก็จะยิ่งเข้มมาก
ฝ้า ( Melasma หรือ Chloasma )
ลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลถึงดำเรียบไปกับผิว โดยจะมีสีเข้มกว่าสีผิวปกติรอบข้าง ขอบเขตไม่สม่ำเสมอ เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีใต้ผิวหนังทำงานมากขึ้นกว่าปกติและจำนวนเซลล์เมลาโนไซต์เพิ่มมากขึ้น เม็ดสีจึงถูกสร้างออกมามากกว่าเดิม ในผิวหนังจึงมีเม็ดสีหรือเมลานินมากขึ้น การเกิดฝ้าไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย และฝ้าไม่ได้เป็นมาตั้งแต่เกิด แต่มักจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ พบมากบริเวณที่มีโอกาสสัมผัสกับแสงแดดบ่อยๆ เช่น โหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง หน้าผาก ขมับ เหนือริมฝีปาก และจมูก โดยมักมีเท่ากันทั้ง 2 ข้าง และยังพบได้บริเวณคอ ไหล่ แขน หน้าอก และหลัง พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และส่วนใหญ่เริ่มพบในวัยกลางคนอายุประมาณ 30-40 ปี โดยฝ้าแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด
- ฝ้าตื้น (Epidermal type) เป็นฝ้าที่อยู่ในระดับชั้นหนังกำพร้าหรือผิวชั้นนอก ฝ้าชนิดนี้จะเป็นสีน้ำตาล มีเส้นขอบชัด เกิดขึ้นได้ง่าย มักตอบสนองต่อการรักษาได้ดี สามารถรักษาให้หายได้และใช้เวลาไม่นาน
- ฝ้าลึก (Dermal type) เป็นฝ้าที่อยู่ในระดับลึกกว่าชั้นหนังกำพร้า คืออยู่ในชั้นหนังแท้ ด้วยความลึกจึงทำให้เกิดการแสดงของสีออกมาเป็นสีน้ำตาลอมฟ้าหรือสีน้ำตาลอมม่วง และมีขอบไม่ชัด เป็นฝ้าที่รักษาได้ยากและใช้เวลานาน
- ฝ้าผสม (Indeterminate type) เป็นฝ้าที่พบได้บ่อยที่สุดในสามกลุ่มนี้ โดยมีทั้งปื้นสีน้ำตาลและสีน้ำตาลอมฟ้าหรือม่วง และตอบสนองแค่ต่อการรักษาบางอย่าง
นอกจากนี้ยังมีฝ้าเลือด (Telangiectatic melasma) ที่ไม่ได้เกิดจากการสร้างเม็ดสีผิดปกติ แต่เกิดจากเส้นเลือดฝอยบริเวณใบหน้าขยายตัวผิดปกติ โดยมักเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนรวมถึงการใช้ยาฮอร์โมนรูปแบบต่างๆ และมักมีผิวแดงง่ายเมื่อโดนความร้อนหรือแสงแดด