การร้อยไหมถึงแม้จะเป็นวิธียกกระชับใบหน้าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นนาน แต่แน่นอนว่าการร้อยไหมอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นอาการบวมแดงไปจนถึงภาวะขั้นรุนแรงอย่างไหมทะลุ ไหมโผล่ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นในวันนี้เรา จะมาหาสาเหตุของการร้อยไหมแล้วไหมโผล่ เกิดจากอะไร รวมถึงวิธีการดูแลรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ เพื่อให้คุณสามารถเข้ารับการร้อยไหมได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัยและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดอย่างที่ตั้งใจไว้
ร้อยไหมแล้วไหมโผล่ เกิดจากอะไร
ภาวะร้อยไหมแล้วไหมโผล่ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณปากแผล หรือบริเวณที่แพทย์เปิดผิว เพื่อสอดเส้นไหมเข้าไป ซึ่งหลัก ๆ แล้วมักมีสาเหตุมาจากเทคนิคการร้อยไหมที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงการร้อยไหมกับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญไม่มากพอ เช่น ร้อยไหมในชั้นผิวที่ตื้นเกินไป ทำให้ปลายไหมดันตัวขึ้นสู่ผิวหนังจนโผล่ออกมา นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการใช้ไหมที่ไม่ได้มาตรฐาน ไหมหมดอายุหรือเลือกเข้ารับบริการกับคลินิกที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงทำให้ไหมเสื่อมสภาพเร็วและเคลื่อนตัวผิดตำแหน่งได้ง่าย
ทั้งนี้ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ คือพฤติกรรมของคนไข้หลังทำการร้อยไหม เช่น การจับหน้าแรง ๆ นวด กด หรือขยับหน้าเยอะเกินไปในช่วงแรกหลังทำ ซึ่งส่งผลให้เส้นไหมเคลื่อนจนโผล่ออกมาจากผิว นอกจากนี้ ปัจจัยทางสภาพผิวของคนไข้เอง เช่น ผิวบาง ผิวขาดความยืดหยุ่นหรือมีปัญหาผิวอักเสบก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะไหมโผล่ได้เช่นกัน
ร้อยไหมแล้วไหมโผล่ อันตรายไหม
ร้อยไหมแล้วไหมโผล่ถือเป็นภาวะผิดปกติที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เมื่อเส้นไหมโผล่ออกมาจากผิวหนังจะเปิดโอกาสให้เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ชั้นผิวหนังได้ง่าย ซึ่งอาจนำไปสู่การอักเสบและติดเชื้อที่รุนแรงได้
หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไข อาการอาจลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากขึ้น เช่น แผลไม่ปิด มีหนองไหลออกมาหรือเกิดการอักเสบลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพผิวเท่านั้น แต่ยังอาจทำให้ผลลัพธ์ของการร้อยไหมไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ดังนั้น หากสังเกตเห็นว่ามีไหมโผล่ออกมาให้เห็นนอกผิวหนัง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพื่อเข้ารับการแก้ไขและรักษาอย่างถูกวิธี

หากไหมโผล่ควรทำอย่างไร
หากพบว่ามีไหมโผล่หลังการร้อยไหม เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจตามมาได้ ควรปฏิบัติดังนี้
- ไม่ดึงไหมออกเอง การพยายามดึงเส้นไหมที่โผล่ออกมาด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติมต่อเนื้อเยื่อ และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น เส้นไหมที่ร้อยไว้มีการยึดเกาะกับเนื้อเยื่อภายใน การดึงออกอย่างไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อและทำให้เกิดรอยแผลเป็นได้
- ไม่เอากรรไกรตัดออกเอง การใช้กรรไกรหรืออุปกรณ์ใด ๆ ตัดเส้นไหมที่โผล่ออกมาเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องและอันตรายมาก เนื่องจากอุปกรณ์ที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อที่ถูกต้องอาจนำเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผล ทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงได้ นอกจากนี้ การตัดไม่ถูกตำแหน่งยังอาจทำให้เส้นไหมขยับเข้าไปข้างในและยากต่อการแก้ไขในภายหลัง
- รีบไปพบแพทย์ด่วน สิ่งที่ควรทำมากที่สุดเมื่อพบว่ามีไหมโผล่ คือการติดต่อแพทย์หรือคลินิกที่ทำการร้อยไหมให้โดยเร็วที่สุด แพทย์จะสามารถประเมินสถานการณ์และให้การรักษาที่เหมาะสม ซึ่งอาจรวมถึงการตัดเส้นไหมที่โผล่ออกมาอย่างถูกวิธี การทำความสะอาดแผลหรือการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ในระหว่างที่รอพบแพทย์ ควรดูแลบริเวณที่มีปัญหาด้วยการทำความสะอาดเบา ๆ ด้วยน้ำเกลือล้างแผล แต่ต้องระวังไม่ให้บีบหรือแกะบริเวณที่มีปัญหา ไม่ใช้ยาทาเองและไม่นวดหรือกดบริเวณดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น
วิธีการดูแลตัวเองหลังร้อยไหม ป้องกันไหมโผล่
การดูแลตัวเองหลังการร้อยไหมอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะร้อยไหมแล้วไหมโผล่ และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนั้นในช่วงระยะเวลาหลังจากร้อยไหมแล้ว 7 – 14 วัน จึงเป็นช่วงที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหลังร้อยไหม
- ประคบเย็นบริเวณที่ร้อย หลังการร้อยไหมเสร็จ ควรประคบเย็นบริเวณที่ทำทรีทเมนต์เป็นเวลา 3 วัน โดยเฉพาะในวันแรก ยิ่งประคบบ่อยเท่าไรยิ่งดี เพราะความเย็นจะช่วยลดอาการบวมและระบมได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนะนำให้ประคบทุก ๆ 4 ชั่วโมงในช่วง 1 – 2 วันแรก
- ใช้ผ้ารัดหน้า การใส่ผ้ารัดหน้าหลังการร้อยไหมจะช่วยพยุงเส้นไหมให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและช่วยลดอาการบวม ควรใส่ผ้ารัดหน้าต่อเนื่องเป็นเวลา 2 – 4 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
- หลีกเลี่ยงการโดนน้ำบริเวณแผล ควรระวังไม่ให้บริเวณแผลที่เกิดจากการร้อยไหมโดนน้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 2 – 3 วัน โดยเฉพาะบริเวณทางเข้าไหมที่แพทย์เปิดผิว เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และควรงดการสระผมด้วยตนเองในช่วงแรก เพื่อลดความเสี่ยงที่น้ำจะเข้าแผล
- งดแอลกอฮอล์และอาหารรสจัด ควรงดการดื่มแอลกอฮอล์ อาหารหมักดองและอาหารรสจัดเป็นเวลา 1 – 2 สัปดาห์หลังการร้อยไหม เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการบวมมากขึ้น และอาจส่งผลต่อกระบวนการหายของแผล
- หลีกเลี่ยงการนวดหรือกดบริเวณใบหน้า ควรงดการทำทรีทเมนต์ใบหน้าทุกชนิด เช่น เลเซอร์ ทรีทเมนต์ อบซาวหน้า รวมถึงการกด นวด หรือคลึงบริเวณใบหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ เนื่องจากอาจทำให้เส้นไหมเคลื่อนตำแหน่งได้
- งดการออกกำลังกายหนัก ควรงดการออกกำลังกายหนัก ๆ หรือทำให้มีการขยับใบหน้ามากเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์แรกหลังการร้อยไหม เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นไหมเคลื่อนตำแหน่ง
- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ควรรับประทานยาแก้อักเสบและยาแก้แพ้ตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดและครบตามกำหนด เพื่อลดการอักเสบและป้องกันการติดเชื้อ

สรุปบทความ
ร้อยไหมแล้วไหมโผล่เป็นภาวะแซกซ้อนที่อาจพบได้บ่อยในผู้ที่ทำการร้อยไหม ทั้งนี้หากเกิดอาการแบบนี้ ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจนำไปสู่การติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ หากพบว่ามีไหมโผล่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่ควรพยายามแก้ไขด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการดึงหรือตัดไหมออกและควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ การดูแลตัวเองหลังการร้อยไหมอย่างถูกวิธีจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหานี้ได้